จาก สมาคมประวัติศาสตร์ไทย
พระราชพิธีธานยเทาะห์

พระราชพิธีนี้เป็นพระราชพิธี ที่เราไม่คุ้นชื่อ บางคนอาจไม่เคยได้ยิน เนื่องจากไม่มีการกระทำพระราชพิธีนี้เลยในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นต้นมา พระราชพิธีนี้ปรากฎอยู่ในหนังสือ นางนพมาศ กฎมณเฑียรบาล รวมถึงพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ของรัชกาลที่ ๕ ด้วย
พระราชพิธีธานยเทาะห์ เป็นภาษาสันสกฤต ธานย แปลว่าข้าว ส่วนคำว่า เทาะห์ แปลว่าการเผา เป็นพระราชพิธีในเดือนสาม เป็นพิธีเก่าตั้งแต่สมัยสุโขทัย กล่าวง่ายๆก็คือ เป็นพิธีกรรมสำหรับเผาข้าวนั่นเอง หลังจากมีการเผาข้าวแล้วก็จะมีการเสี่ยงทายผลผลิตข้าวด้วย
ในสมัยโบราณ

การจัดการกับตอ หรือซัง หรือฟางข้าว เป็นเรื่องที่สำคัญและเชื่อว่าเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ที่ส่งผลถึงความมั่นคง ของชีวิตในอนาคตด้วย ว่าข้าวที่เพาะปลูกในปีต่อไปจะเจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์มากน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับการจัดการของปีนี้ เหตุนี้เองจึงมีพิธีกรรมเรียกว่า “เผาข้าว” หมายถึงการจุดไฟเผาตอ หรือซังในนา พระราชพิธีธานยเทาะห์ก็คือ พิธีกรรมเผาข้าว นั่นเอง จดปะสงค์ของพระราชพิธีก็คือ เพื่อบูชาพระโพสพเทพเจ้าแห่งธัญพืชและ มีการเสี่ยงทายในการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เกษตรกร รูปแบบของการประกอบพิธีกรรมในพระราชพิธีธานยเทาะห์เป็นรูปแบบพิธีกรรมที่ เกิดจากความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเชื่อว่า พระโพสพเป็นเทพเจ้าที่คอยปกปักษ์รักษาข้าวให้มีความอุดมสมบูรณ์ เมื่อสิ้นสุดฤดูกาลทำนาจึงควรมีการบูชาเพื่อขอบคุณและส่งพระโพศพหลังจากที่ ท่านช่วยดูแลรักษาข้าวมาตลอดฤดูกาล
สมัยสุโขทัย
หนังสือนางนพมาศ กล่าวถึงลำดับพิธีดังนี้ ในสมัยสุโขทัยคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ณ พลาชัย ให้นางสนมนางกำนันนางระบำที่มีรูปงามทั้งหลายแต่งตัวให้แต่งตัวให้สวย งามอย่างมาลายู โดยแบ่งเป็นคู่ ๆ กันละ ๑๐ คู่ ลากฟ่อนข้างเข้าสู่ลานที่รายล้อมด้วยราชวัตรฉัตรธง จากนั้น ชาวพนักงานก็นำโคอุสุภราช โคกระวินเข้ามาเทียมเกวียน พราหมณ์ถือประตักเงินอ่านมนต์ขับพระโคให้เดินเวียนนวดข้าว นายนักการพระสุรัสวดีก็สงฟอนขนไปกองไว้ในยัญตะลากูณฑ์ พระครูพรหมพรตพิธีบูชาสมิทธิพระเพลิงด้วยสุคันธของหอม อ่านอิศวรเวทโหมกุณฑ์ เป่าสังข์ ๓ รอบ แล้วจึงเชิญพระเพลิงออกจุดเผาฝางและซังข้าว เป็นการปัดเป่าอุปาทวจัญไร อีกทั้งยังมีงานมหรสพการละเล่นต่าง ๆ สร้างความบันเทิงใจหลังการเก็บเกี่ยว
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการเล่นมหรสพในพระราชพิธีธานยเฑาะห์ด้วยว่า การมหรสพก็มีการละเล่นระเบ็งระบำ จิริแทงเขน กระอั้วแทงความ หกคะเมน
สมัยกรุงศรีอยุธยา
การพระราชพิธีเดือนสามนี้ กฎมณเฑียรบาลจดไว้ว่าพิธีธานยเฑาะห์หรือธัญเฑาะห์ แต่ในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัดจดไว้ว่า ธัญเฑาะห์ คือ พิธีเผาข้าวเพื่อการเสี่ยงทาย การพิธีเผาข้าวนี้เป็นการคู่กันกับพิธีจรดพระนังคัล ซึ่งเป็นการทำเพื่อสวัสดิมงคลแก่ธัญญาหารอันเป็นเสบียงสำหรับพระนคร
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานพระราชพิธีนี้ ใน กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศกของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์(กุ้ง) โดยพิธีธานยเทาะห์นี้จะมีการแห่พระแม่โพสพไปตามถนน เพื่อนำเอาฟางข้าวมาเผา มีคนแต่งชุดด้วยเสื้อสีเขียวข้างหนึ่ง สีแดงอีกข้างหนึ่ง สวมเทริด(เครื่องประดับบนศีรษะ) สมมุติว่าเป็นพระอินทร์ กับพระพรหมแย่งรวงข้าวกัน เป็นการเสี่ยงทาย แล้วมีคำทำนายอนาคตของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยหากพิจารณาตามเนื้อหาของพระราชพิธีสมัยอยุธยาแล้ว จะเห็นได้ว่าพระราชพิธีธานยเทาะห์ เป็นพิธีที่ทำต่อเนื่องจากการนวดสงฟางข้าวเสร็จแล้ว จึงนำเอาฟางข้าวไปเผารวมทั้งข้าวที่เสียหายเพราะเมล็ดลีบ หรือถูกเพลี้ย ด้วง แมลงต่างๆ นำมาเผาทำลาย
นอกจากนี้ ยังมีตำราพระราชพิธี เล่าถึงพระราชพิธีธานยเฑาะห์ คล้ายกับกาพย์ห่อโคลงเจ้าฟ้ากุ้งไว้ว่า
พระจันทกุมารเป็นผู้ฉลองพระองค์ออกไปทำการพิธี ตั้งโรงพิธีที่ทุ่งนา เห็นจะเป็นทุ่งหันตราคือทุ่งหลวง มีกระบวนแห่ออกไปเช่นแรกนา แล้วเอารวงข้าวมาทำเป็นฉัตรปักไว้หน้าโรงพิธี พระจันทกุมารนั่งที่โรงพิธี แล้วจึงเอาไฟจุดรวงข้าวที่เป็นฉัตรนั้นขึ้น มีคนทั้งแต่ตัวเสื้อเขียวพวกหนึ่ง เสื้อแดงพวกหนึ่ง สวมเทริดท่วงทีจะคล้ายๆอินทร์พรหมหรือโอละพ่อ สมมติว่าเป็นอินทร์พวกหนึ่ง เป็นพรหมพวกหนึ่ง เข้ามาแย่งรวงเข้ากัน ข้างไหนแย่งได้มีคำทำนาย ถ้าคำทำนายเป็นไปในทางที่ดี ก็จะถือว่าการเพาะปลูกก็จะดี แต่ถ้าไม่พืชผลจะเสียหาย เพาะปลูกได้ผลผลิตน้อย หรือไม่ก็เสียหาย
ข้อความในวงเล็บต่อไปนี้ เป็นข้อสันนิษฐานของแอดมิน
(เนื่องจากแอดมินเคยเห็นข้อมูลจากเว็บเจ้าฟ้าเพชรรัตนดอทคอม ได้กล่าวถึงการแต่งตัวของพรหม อินทร์ไว้ เมื่อทำบันทึกนี้จึงนึกได้ ข้อมูลมีว่า
หมวกกำมะหยี่สีเขียวทรงเทริดและเสื้อกำมะหยี่สีเขียวคอบัวติดขลิบใช้กับอินทร์
หมวกกำมะหยี่สีแดงทรงเทริดและเสื้อกำมะหยี่สีแดงคอบัวติดขลิบใช้กับพรหม ดังรูป
เป็นไปได้หรือไม่ ว่าในพระราชพิธีธานยเฑาะห์ คนที่แต่งตัวเป็นอินทร์พรหม จะแต่งตัวแบบนี้)

สรุป
มีขั้นตอนในพระราชพิธี ตามลำดับขั้นตอนดังนี้
. การขนข้าวสู่ลาน โดยมีขบวนนางสนมกำนัลและข้าราชบริพารเป็นผู้ขนข้าวเข้าสู่ลานนวด
. การตัดเขน็ด คือ การตัดเชือกที่มัดฟ่อนข้าวที่นำเข้ามาสู่พิธี
. การนวดข้าว คือ การทำให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวงข้าวโดยใช้โคเหยียบย่ำฟ่อนข้าว
. การสงฟาง คือ การใช้ขอฉายเกี่ยวฟางเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดจากรวงให้หมด
. การเผาข้าว คือ การประกอบพิธีของพราหมณ์ตามความเชื่อที่เป็นการบูชาพระโพสพ เทพเจ้าแห่งธัญพืช
คำทำนายในพระราชพิธี
ข้างไหนแย่งได้มีคำทำนาย ถ้าคำทำนายเป็นไปในทางที่ดี ก็จะถือว่าการเพาะปลูกก็จะดี แต่ถ้าไม่ดี พืชผลจะเสียหาย เพาะปลูกได้ผลผลิตน้อย
การยกเลิกพระราชพิธี
พระราชพิธีธานยเทาะห์นี้ สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและมีการประกอบพระราชพิธีเรื่อยมา จนถึงสมัยอยุธยาตอนปลายจึงได้ยกเลิกไป ไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ายังมีการประกอบพิธีดังกล่าวในสมัยรัตนโกสินทร์